Thursday, November 17, 2016

ปวดไหล่ไม่ทรมาน รักษาได้ ถ้าวินิจฉัยได้ถูกต้อง 


ปวดไหล่ไม่ทรมาน รักษาได้ ถ้าวินิจฉัยได้ถูกต้อง 

อาการปวดไหล่นับว่าเกิดขึ้นได้บ่อยในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุของอาการปวดไหล่นั้นมีได้หลายสาเหตุเช่น ถุงน้ำบริเวณข้อไหล่มีการอักเสบ เส้นเอ็นบริเวณข้อไหล่เสื่อมคุณภาพ เส้นเอ็นบริเวณข้อไหล่เกิดการฉีกขาด รวมทั้งเกิดการฉีกขาดของแคปซูลที่ข้อไหล่ การเสื่อมสภาพของกระดูกข้อต่อบริเวณไหล่ ในบางครั้งผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดร้างลงมาที่ไหล่อาจเนื่องมาจากหมอนรองกระดูกคอเสื่อมร่วมกับมีการกดทับเส้นประสาททให้มีอาการปวดต้นคอร้าวลงมาที่ไหล่ได้ ทำให้มีอาการเหมือนปวดไหล่ ไหล่ติด ยกไหล่ไม่ขึ้น 


          การวินิจฉัยที่ถูกต้องนั้นเป็นสิ่งจำเป็นก่อนให้การรักษาทุกชนิด บางครั้งผู้ป่วยมีอาการปวดก็ชอบไปนวดที่ไหล่ หรือไปทำกายภาพ ที่จริงแล้วก่อนที่จะทำการรักษาด้วยวิธีการใดก็ตาม ผู้ป่วยควรได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อนเสมอ ซึ่งการวินิจฉัยที่ถูกต้องนั้นได้มาจากการซักประวัติอาการเจ็บปวดบริเวณข้อไหล่ของผู้ป่วย รวมทั้งประวัติการได้รับบาดเจ็บที่บริเวณข้อไหล่มาก่อน ต่อจากนั้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อประเมินว่าอาการปวดไหล่ที่เป็นนั้นมีสาเหตุมาจากปัญหาที่ข้อไหล่โดยตรง หรือเกิดจากสาเหตุของหมอนรองกระดูกคอเสื่อมร่วมกับมีการกดทับเส้นประสาทจึงทำให้มีอาการปวดร้าวลงมาที่ไหล่และแขนได้ 



ในปัจจุบันการใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound)  นับว่ามีประโยชน์อย่างมากในการช่วยในการวินิจฉัยและประเมินสภาพของเส้นเอ็นในบริเวณข้อไหล่ ข้อดีของการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงคือ สามารถตรวจได้ง่ายและได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วจากแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการตรวจ ผู้ป่วยไม่ต้องได้รับแสงรังสีซึ่งมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วย ราคาไม่แพงมากเหมือนกับการตรวจด้วยเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)  การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงจะสามารถทำให้แพทย์มองเห็นว่าเส้นเอ็นมีการบวม การอักเสบ การฉีกขาด หรือในบางครั้งที่มีหินปูนเกาะที่เส้นเอ็นซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบ ผู้ป่วยมีอาการวดไหล่มากจนไม่สามารถขยับข้อไหล่ได้ โดยอาการมักจะเป็นแบบเฉียบพลัน การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงก็จะช่วยให้แพทย์ทำการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว 

 

การถ่ายภาพเอกซเรย์จะช่วยประเมินลักษณะของกระดูกบริเวณไหล่ว่ามีการเสื่อมของกระดูกข้อไหล่หรือไม่ รวมทั้งในกรณีที่มีหินปูนไปเกาะที่เส้นเอ็นซึ่งทำให้เกิดการอักเสบก็สามารถเห็นได้จากภาพเอกซเรย์ รวมทั้งประเมินดูว่าลักษณะทั่วไปของกระดูกข้อไหล่ไม่มีการถูกทำลาย ซึ่งอาจจะพบได้บ้างแต่ไม่มากที่กระดูกบริเวณหัวไหล่เกิดเนื้องอกและมีการทำลายกระดูกบริเวณข้อไหล่และทำให้เกิดอาการปวด  
นอกจากการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงและภาพถ่ายเอกซเรย์แล้ว ยังมีการตรวจด้วยเครื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือการตรวจด้วย MRI ซึ่งจะทำให้เห็นลักษณะของกายวิภาค เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อไหล่ได้อย่างชัดเจน รวมทั้งพยาธิสภาพที่เกิดในบริเวณข้อไหล่เช่น เส้นเอ็นฉีกขาด หินปูนในเส้นเอ็นทำให้เกิดการอักเสบ เส้นเอ็นเสื่อมสภาพมีการบวม การฉีกขาดของแคปซูลในข้อไหล่ การวินิจฉัยที่ถูกต้องจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการให้การรักษาที่ถูกต้อง เพราะในผู้ป่วยบางรายยังไม่ทราบสาเหตุของอาการปวดไหล่ ก็มักจะไปรับการรักษาด้วยวิธีการต่างๆเช่น การนวด การทำกายภาพบำบัด ซึ่งถ้าเป็นในกรณีที่มีการฉีกขาดของเส้นเอ็นในบริเวณข้อไหล่ หรือการอักเสบของเส้นเอ็นก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมากยิ่งขึ้น 


แนวทางการรักษา 
เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องแล้ว ถ้าเส้นเอ็นมีการอักเสบ เสื่อมสภาพ เส้นเอ็นขาดไม่มากแพทย์อาจจะทำการรักษาโดย 
1. การให้ยาลดอักเสบ และยาลดปวดชนิดรับประทาน เพื่อบรรเทาอาการปวดในบริเวณข้อไหล่ 
2. การฉีดยาเพื่อลดการอักเสบเข้าที่บริเวณข้อไหล่ เพื่อลดการอักเสบของเส้นเอ็นและเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆบริเวณข้อไหล่ ยาที่ใช้ฉีดมี 2  ประเภทคือ 1. ยาสเตียรอยด์ชนิดฉีดเฉพาะที่  2. ยาลดการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ ซึ่งจะนำยาชนิดใดชนิดหนึ่งมาผสมร่วมกับยาชาแล้วฉีดเข้าไปยังตำแหน่งที่มีการอักเสบของเส้นเอ็น โดยใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) เป็นตัวนำเพื่อระบุตำแหน่งที่จะฉีดยา ซึ่งจะทำให้แพทย์ผู้ทำการฉีดยาสามารถฉีดยาเข้าไปในตำแหน่งที่มีการอักเสบได้ถูกต้องแม่นยำ และไม่ได้ฉีดเข้าไปที่บริเวณเส้นเอ็นโดยตรง เพราะถ้าฉีดยาเข้าไปในตำแหน่งเส้นเอ็นโดยตรงไม่ว่าจะเป็นยาชนิดใดก็ตามก็จะทำให้เกิดการขาดของเส้นเอ็นได้ ลดภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดยาเข้าบริเวณหัวไหล่ได้มาก
3. การทำกายภาพบำบัดมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ป้องกันการติดของข้อไหล่ และทำให้กล้ามเนื้อบริเวณรอบๆข้อไหล่มีความแข็งแรง  อย่างไรก็ตามก่อนการทำกายภาพบำบัดผู้ป่วยที่มีอาการปวดไหล่ควรต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ทราบถึงพยาธิสภาพที่ชัดเจนก่อนทุกครั้ง และในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณข้อไหล่มากๆนั้นก็ยังไม่ควรไปขยับข้อไหล่มากด้วยการทำกายภาพเนื่องจากยังมีการอักเสบของเส้นเอ็นอยู่ ควรจะรักษาเพื่อลดการอักเสบของเส้นเอ็นให้หายดีก่อน มิเช่นนั้นการทำกายภาพบำบัดด้วยการฝึกการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมากยิ่งขึ้น การทำกายภาพเพื่อฝึกการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ควรทำหลังจากอาการปวดลดลงแล้วหรือเมื่ออาการอักเสบของเส้นเอ็นดีขึ้นแล้ว ในบางกรณีที่เส้นเอ็นบริเวณข้อไหล่มีการฉีกขาดและผู้ป่วยไปทำกายภาพในขณะที่เส้นเอ็นฉีกขาดก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมากยิ่งขึ้น
4. ถ้าวินิจฉัยได้ว่าเส้นเอ็นไหล่ขาดมีขนาดกว้างมาก ร่วมกับมีการเสื่อมของกระดูกข้อต่อที่บริเวณไหล่ทำให้เกิดกระดูกงอกออกมาและไปเสียดสีกับเส้นเอ็น อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเย็บซ่อมแซมเส้นเอ็น เพื่อลดอาการปวดไหล่ และการเย็บซ่อมแซมเส้นเอ็นจะช่วยทำให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ดีขึ้น ยกไหล่และกางไหล่ได้มากขึ้น ร่วมกับการเอากระดูกที่งอกและไปเสียดสีกับเส้นเอ็นออก จะทำให้การเคลื่อนไหวของข้อไหล่ดีขึ้น

_________________________________________________
เชิญเพิ่มเพื่อนทาง line จาก หมอเก่ง กระดูกและข้อ
เพื่อรับข้อมูลข่าวสารสุขภาพกระดูกและข้อครับ
line id search @doctorkeng

No comments:

Post a Comment